อาการลมจับ
“ลมจับ” คือ อาการทางร่างกายที่เริ่มหน้ามืด ตาเริ่มมัว ทรงตัวไม่อยู่ใกล้จะหมดสติได้ หรือ หมดสติไปเลย ดังนั้น เวลา ผู้คนลมจับจึงมาจากเหตุใหญ่ๆ คือ อยู่ในที่ร้อนอบอ้าว ทำงานเกินตัว หรือพักผ่อนน้อย และเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ไม่คาดฝันหรือช็อก ทำให้เกิดอาการวิเวียนศีรษะ หายใจหายคอไม่สะดวก แข้งขาอ่อนแรง ล้มพับกองอยู่กับพื้นได้
ในทางการแพทย์แผนไทยที่มีมาแต่โบราณถือว่า ความเจ็บป่วยมาจากธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศธาตุ ที่เกิดอาการระส่ำระสาย หรือไม่ ก็มีธาตุมาแรง หรือออกอาการเด่นกว่า ก็เรียกโรคทางนั้น เช่น โรคจากวาตะ(ลม) จากปิตตะ(ไฟ) เป็นต้น
วิธีแก้ลมจับอย่างง่ายที่สุดที่ทำกันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน คือ ใช้ยาดม ยาดมส่วนใหญ่มีกลิ่นหอมสดชื่นซึ่งมักจะเป็นกลิ่นออกรสส้ม ที่ใช้กันมาแต่โบราณ คือ กลิ่นของมะกรูด โดยใช้เล็บจิกที่ผิวมะกรูด ให้น้ำมันที่ผิวนำกลิ่นหอมสดชื่นออกมาให้สูดดม
ในทางการแพทย์แผนไทย อาการลมจับ ยังอาจหมายถึง อาการลมขึ้นเบื้องสูง หรือลมพัดขึ้นเบื้องบน ที่อธิบายได้ว่า ลมเคลื่อนตัวจากสะดือถึงหัว ทำให้มีอาการหาวเรอบ่อยๆ อยากอาเจียน เป็นต้น นอกจากลมประเภทนี้แล้ว ศาสตร์การแพทย์แผนไทยของเรา ยังอธิบายลมอีก 5 ชนิดที่เหลือ ได้
-ลมที่พัดลงเบื้องล่าง ลมเคลื่อนที่จากสะดือถึงปลายเท้า มักมีอาการอุจจาระปัสสาวะแปรปรวน หากเป็นมากอาจส่งผลให้ยกแข้งยกขาไม่ค่อยไหว และมีอาการเมื่อยขบตามข้อด้วย
-ลมในท้องแต่นอกลำไส้ มักมีอาการเจ็บท้อง มีการบีบตัวมาก
-ลมในท้อง แต่อยู่ในลำไส้ เป็นลมในกระเพาะอาหาร ในทางเดินอาหาร อาการที่เด่นชัดของโรคคือ มีอาการจุกเสียด แน่นหน้าอก และอาจจะมีอาการอยากอาเจียน ด้วย
-ลมแล่นทั่วร่างกาย หมายถึง ลมที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว หรือทำให้ร่างกายขยับเขยื้อนได้ดี
-ลมหายใจเข้า-ออก เพื่อทำให้ร่างกายยังมีชีวิตอยู่
ขอบคุณข้อมูลจาก มติชนสุดสัปดาห์ –คอลัมท์ สมุนไพรเพื่อสุขภาพ
ยาเก็บได้นานแค่ไหนคั
ตอบลบ