วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2559

อากาศร้อนอาจเป็นลมหมดสติได้

เป็นลมหมดสติเพราะกรำแดด หรือ อยู่ในที่มีความร้อนจัด
 ทำให้เกิดอาการได้ ๒ รูปแบบ คือ
 ๑. อาการเป็นลมหน้าแดง
 ๒. อาการเป็นลมหน้าซีด

  ๑. อาการเป็นลมหน้าแดงเนื่องจากความร้อน เป็นการตอบสนองต่อความร้อนของร่างกาย อย่างรุนแรงที่สุด กลไกในสมองที่เป็นศูนย์กลางควบคุมการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกายไม่ทำหน้าที่ตามปกติ อุณหภูมิของร่างกายขยับขึ้นสูงจนถึง ๑๐๕ ถึง ๑๑๐ องศาฟาเรนไฮต์ โดยผู้ป่วยไม่มีเหงื่อออกจากผิวหนังเลย ทำให้ความร้อนสะสมไว้ในร่างกายเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยมีใบหน้าและผิวหนังเป็นสีแดงร้อนผ่าว ก่อนปรากฏอาการผู้ป่วยมักอยู่กลางแดดหรือทำงานในที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน มีอาการนำคือ ปวดศีรษะ คลื่นเหียน อาเจียน วิงเวียน อ่อนเพลีย และเป็นลมหมดสติไปในที่สุด ผู้ป่วยหายใจเร็วและ ลึก ชีพจรเร็วและแรงอาจมีอาการชักกระตุกตามมา อาการเป็นลมหน้าแดงนี้ ทำให้ร่างกายของผู้ป่วยพิการ บางคนเสียชีวิตได้ จึงควรให้การช่วยเหลือโดยเร็วและถูกวิธี

  วิธีปฐมพยาบาล
 ๑. ควรพยายามลดอุณหภูมิของร่างกายให้เร็วที่สุด โดยนำผู้ป่วยมาสู่ที่อากาศเย็นกว่า ถอดเสื้อผ้าของผู้ป่วยให้เหลือน้อย ให้นอนหงาย ศีรษะและไหล่ให้สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย ทำให้ลำตัวเย็นลงโดยราดน้ำเย็นหรือเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น โดยเฉพาะบริเวณศีรษะควรให้เย็นลงเร็วที่สุด
 ๒. เมื่อผู้ป่วยฟื้นคืนสติ ให้ดื่มน้ำเย็น ห้ามให้น้ำชากาแฟ หรือสุรา อย่าให้ดื่มน้ำร้อน
 ๓. หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบนำส่งแพทย์ ขณะเดินทางให้เช็ดตัวด้วยน้ำเย็นตลอดเวลา

  ๒. อาการเป็นลมหน้าซีดเนื่องจากความร้อน เกิดจากผู้ป่วยได้รับความร้อนและเสียเหงื่อจากร่างกายจำนวนมากเป็นเวลานานๆ ทำให้ร่างกายขาดทั้งเกลือแร่และน้ำจากเหงื่อที่สูญไป ปริมาณของเลือดที่ไหลเวียนอยู่ในเส้นเลือดต่างๆ ของร่างกายลดลงทำให้ผู้ป่วยอ่อนเพลีย หมดแรงและเป็นลมสิ้นสติไป ผู้ป่วยประเภทนี้ปลุกให้ตื่นได้ง่าย อุณหภูมิของร่างกาย มักอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือบางครั้งต่ำกว่าปกติ เช่น ต่ำถึง ๙๗ องศาฟาเรนไฮต์ ชีพจรอ่อนและเร็ว ใบหน้าและผิวหนังซีดเซียว เย็นและชุ่มเหงื่อ มักเป็นตะคริวของกล้ามเนื้อหน้าท้องและแขนขา

  วิธีปฐมพยาบาล
 ๑. ให้นำผู้ป่วยออกสู่ที่ร่มเย็น แต่อย่าให้ลมโกรกเพราะอาจหนาวสั่น คลายเครื่องแต่งตัวให้หลวม ห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่นพอควร ให้นอนศีรษะต่ำกว่าลำตัว
 ๒. ถ้ามีตะคริวของกล้ามเนื้อ ให้ประคบด้วยความร้อนหรือนวดเฟ้นด้วยมือ
 ๓. เมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัว ให้ดื่มน้ำอุ่นมากๆ ควรจำไว้ว่าน้ำเปล่าหนึ่งขวดเหล้ากลมจุประมาณ ๗๕๐ ซี.ซี. และควรเติมเกลือแกงลงไป ครึ่งช้อนชา เพื่อชดเชยเกลือที่เสียไปจากร่างกาย
 ๔. อาจให้ผู้ป่วยดื่มน้ำชาหรือกาแฟอุ่นๆ เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจให้สูบฉีดเลือดดีขึ้น

 ***ขอบคุณข้อมูล"เป็นลมหมดสติ โดย พันตำรวจโท นายแพทย์พิพัฒน์ ชูวรเวช www.sanook.com***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น